สามก๊ก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- บทความนี้เกี่ยวกับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สำหรับความหมายอื่น ดูที่ สามก๊ก (แก้ความกำกวม)
สามก๊ก | |
---|---|
ภาพหน้าปกหนังสือสามก๊กภาคภาษาไทย ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ. 2544 | |
ผู้ประพันธ์ | ล่อกวนตง (ฮกเกี้ยน) หรือหลัว กวั้นจง (จีนกลาง) |
ชื่อต้นฉบับ | ซันกั๋วยั่นอี้ (จีนตัวเต็ม:三國演義; จีนตัวย่อ:三国演义) สามก๊กเอี้ยนหงี (ฮกเกี้ยน) ซันกั๋วยั่นอี้ (จีนกลาง) |
ผู้แปล | เจ้าพระยาพระคลัง (หน) |
ผู้สร้างสรรค์ปก | มีหลายรูปแบบ |
ประเทศ | จีน |
ภาษา | ภาษาจีน |
ประเภท | วรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ |
ผู้เผยแพร่ | หลายแห่ง |
วันเผยแพร่ | ตีพิมพ์หลายคราว |
ชนิดสื่อ | พงศาวดารจีน |
สามก๊ก (อังกฤษ: Romance of the Three Kingdoms ; จีนตัวเต็ม: 三國演義; จีนตัวย่อ: 三国演义;พินอิน: Sānguó yǎnyì) เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก เป็นมรดกทางปัญญาของปราชญ์ชาวตะวันออกที่สุดยอด มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 10 ภาษา[1]และมีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่งขึ้นประมาณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคสมัยราชวงศ์หยวน บทประพันธ์โดยหลัว กวั้นจง (จีน: 羅貫中; พินอิน: Luó Guànzhōng) แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2345 ในรูปแบบสมุดไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ในปี พ.ศ. 2408 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งภายใต้ชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" โดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ในปี พ.ศ. 2471 ปัจจุบันสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้งโดยหลายสำนักพิมพ์ถือเป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มที่ 2 โดยแปลหลังจากไซ่ฮั่นและเก่าแก่ที่สุดในไทย[2]
สามก๊กมีเนื้อหาหลากหลายรสชาติ เต็มไปด้วยกลเล่ห์เพทุบาย กลศึกในการรบ การชิงรักหักเหลี่ยม ความเคียดแค้นชิงชัง ความซื่อสัตย์และการให้อภัย ซึ่งมีเนื้อหาและเรื่องราวในทางที่ดีและร้ายปะปนกัน[3]ภาพโดยรวมของสามก๊กกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก ในปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 โดยจุดเริ่มต้นของสามก๊กเริ่มจากยุคโจรโพกผ้าเหลืองในปี พ.ศ. 726 ที่ออกอาละวาด จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามคือเล่าปี่กวนอูและเตียวหุย ได้ร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องและร่วมปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลือง รวมทั้งการแย่งและช่วงชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นของก๊กต่าง ๆ อันประกอบด้วยวุยก๊กหรือก๊กเว่ย (魏) จ๊กก๊กหรือก๊กสู่ (蜀) และง่อก๊กหรือก๊กหวู (吳) จนถึงการสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยน รวมระยะเวลาประมาณ 60 ปี นอกจากนี้ สามก๊กยังเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับไซอิ๋ว ซ้องกั๋งและความฝันในหอแดง ซึ่งนักอ่านหนังสือจำนวนมากยกย่องสามก๊กเป็นบทเรียนตำราพิชัยสงครามภาคปฏิบัติ การบริหารและเศรษฐกิจ
ประวัติการประพันธ์
- ดูบทความหลักที่ จดหมายเหตุสามก๊ก
สามก๊ก เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ ที่เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งเนื้อหาโดยรวมเป็นการเล่าแบบบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจีนในขณะนั้นบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์วุ่นวายระส่ำระสาย เกิดการแตกแผ่นดินออกเป็นก๊กต่าง ๆ รวมสามก๊กด้วยกัน รวมทั้งมีการทำสงครามอันยาวนานนับ 100 ปี และสุดท้ายจีนที่แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าก็กลับมารวมเป็นจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในสมัยราชวงศ์จิ้นขึ้นปกครองประเทศจีนต่อ ภายหลังได้มีการชำระประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตในยุคนั้น โดยนักปราชญ์ชาวจีนชื่อตันซิ่ว[4]
บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ในยุคสามก๊กฉบับแรก ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรคือ จดหมายเหตุสามก๊ก หรือสามก๊กจี่ หรือซันกั๋วจื้อ (จีน: 三國志) ซึ่งเป็นผลงานการเขียนในลักษณะพงศาวดารโดยตันซิ่วหรือเฉินโซ่ว บัณฑิตแห่งราชวงศ์จิ้น อดีตข้าราชการอาลักษณ์คนหนึ่งของจ๊กก๊กที่ถูกกวาดต้อนมายังวุยก๊กหลังจากพ่ายแพ้ศึกสงคราม โดยเขียนขึ้นตามบัญชาของพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปีพ.ศ. 1873 - พ.ศ. 1943 หลัว กวั้นจง ได้นำซันกั๋วจื้อมาแต่งใหม่ในรูปแบบนิยายกึ่งประวัติศาสตร์ โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดนำมาจากซันกั๋วจื้อบ้างและแต่งเพิ่มเติมเองบ้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับซันกั๋วจื้อนั้น พบว่ามาจากซันกั๋วจื้อร้อยละ 70 และแต่งเองร้อยละ 30 โดยประมาณ
สามก๊กในรูปแบบต่าง ๆ
เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสามก๊ก เคยมีผู้นำมาเล่าเป็นนิทานเล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน และนำมาปรับปรุงเสริมแต่งเพื่อเล่นเป็นงิ้วในเมืองจีน จนกระทั่งหลัว กวั้นจง นักปราชญ์จีนในสมัยยุคราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ. 1911 - พ.ศ. 2186 ได้นำสามก๊กมาเรียบเรียงใหม่อีกครั้งในรูปแบบของหนังสือ ต่อมาภายหลังเม่าจงกังและกิมเสี่ยถ่าง (จิ้นเสิ้งทั่น) ได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนของสามก๊กและนำไปตีพิมพ์ในจีน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ "สามก๊ก" ได้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะที่ได้รับการกล่าวขานและแพร่หลายในจีน รวมทั้งอีกหลาย ๆ ประเทศและได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบภาษาต่าง ๆ หลายภาษา[5]
ซันกั๋วจื้อ
ซันกั๋วจื้อ (จีน: 三国志) ซึ่งเป็นจดหมายเหตุของตันซิ่ว ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจีนในสมัยของยุคสามก๊กชุดแรก ซึ่งถือว่ามีความสมบูรณ์มากที่สุด มีความยาว 65 เล่ม ประกอบไปด้วย วุยจี่ (จดหมายเหตุก๊กวุย) จำนวน 30 เล่มสมุด จ๊กจี่ (จดหมายเหตุก๊กจ๊ก) จำนวน 15 เล่มสมุด และง่อจี่ (จดหมายเหตุก๊กง่อ) จำนวน 20 เล่มสมุด มีตัวอักษรรวมทั้งหมดประมาณ 360,000 ตัว ซึ่งในตอนแรกนั้นตันซิ่วไม่ได้ตั้งชื่อบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊กว่า "ซันกั๋วจวื้อ" ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ต้าซ่งผู้หนึ่งเป็นผู้ตั้งให้ แต่เนื่องจากตันซิ่วรับราชการเป็นขุนนางของราชวงศ์จิ้นหรือวุยก๊ก ซึ่งทำให้การเขียนจดหมายเหตุสามก๊กนั้นเป็นการเขียนที่ยึดเอาราชวงศ์จิ้นเป็นหลัก ตันซิ่วยกให้วุยก๊กของโจโฉเป็นก๊กที่ปกครองแผ่นดินอย่างถูกต้อง ส่วนจ๊กก๊กของเล่าปี่และง่อก๊กของซุนกวน กลายเป็นเพียงรัฐที่มีการปกครองเพียงบางส่วนของประเทศจีนเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ทำให้มุมมองของตันซิ่วที่มีต่อจ๊กก๊กและง่อก๊กแตกต่างจากสามก๊กของหลัว กวั้นจง ซึ่งนำเอาจดหมายเหตุสามก๊กมาดัดแปลงเพิ่มเติมจนกลายเป็นสามก๊กในปัจจุบัน
ตันซิ่วกล่าวยกย่องจักรพรรดิของวุยก๊กทุกพระองค์ด้วยราชทินนามเช่น เรียกพระเจ้าโจโฉว่า "วุยบู๊เต๊" เรียกพระเจ้าโจผีว่า "วุยบุ๋นเต้" และเรียกพระเจ้าโจยอยว่า "วุยเหม็งเต้" และสำหรับพระเจ้าโจฮอง พระเจ้าโจมอและพระเจ้าโจฮวน ตันซิ่วยกย่องให้เป็นสามจักพรรดิพระองค์น้อย นอกจากนี้ตันซิ่วยังให้คำที่แปลว่าจักรพรรดิของแต่ละก๊กที่แตกต่างกัน โดยคำว่าจักรพรรดิของวุยก๊กใช้คำว่า "จี้" แปลว่าพระราชประวัติ แต่สำหรับจ๊กก๊กและง่อก๊ก ตันซิ่วเลือกใช้เพียงคำว่า "จ้วน" ที่แปลว่าชีวประวัติบุคคลเท่านั้น แต่สำหรับจักรพรรดิของจ๊กก๊กคือพระเจ้าเล่าปี่ ตันซิ่วยังคงให้เกียรติอยู่บ้างในฐานที่เคยอาศัยในจ๊กก๊ก จึงเรียกพระเจ้าเล่าปี่ว่า "เฉียนจวู่" แปลว่าเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์แรก และเรียกพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่า "โฮ่วจวู่" แปลว่าเจ้าผู้ครองรัฐพระองค์หลัง แต่สำหรับง่อก๊กนั้นตันซิ่วเลือกใช้คำสามัญธรรมดาด้วยการเรียกชื่อโดยตรงคือซุนเกี๋ยน ซุนกวนและซุนเหลียงเป็นต้น[6]
นอกจากนี้ตันซิ่วยังเปลี่ยนชื่อเรียกขานของจ๊กก๊กจาก "ฮั่น" เป็น "จ๊ก" ด้วยเหตุผลที่ว่าหากตันซิ่วเลือกใช้คำว่า "ฮั่น" ก็จะเท่ากับเป็นการให้เล่าปี่สืบทอดราชสมบัติและราชอาณาจักรต่อจากราชวงศ์ฮั่นอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายวุยก๊ก ตันซิ่วจึงเลือกที่จะลดฐานะของเล่าปี่จากเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเป็นเพียงเจ้าผู้ครองมณฑลเสฉวนหรือจ๊กก๊กเท่านั้น ซึ่งการเลือกใช้คำเรียกเล่าปี่ของตันซิ่วนี้ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่พอใจและตำหนิตันซิ่วที่มีความลำเอียงและเลือกเข้าข้างวุยก๊กและราชวงศ์จิ้น รวมทั้งมีอคติที่ไม่ดีต่อจูกัดเหลียงที่สืบมาจากความเคียดแค้นในเรื่องส่วนตัว แต่ถึงอย่างนั้นนักประวัติศาสตร์จีนก็ให้การยกย่องตันซิ่วที่มีความสามารถในการเขียนประวัติศาสตร์ ที่สามารถเก็บบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด
ซันกั๋วจื้อผิงฮว่า
ซันกั๋วจื้อผิงฮว่า (จีน: 三国之评话) เป็นการนำจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเขียนขึ้นใหม่ในรูปของนิทานและบทแสดงของงิ้วโดยนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงประเพณีโบราณของจีนที่ให้ความสำคัญกับความกตัญญู ข้าราชการ เสนาธิการและเหล่าขันทีภายในราชสำนักจะต้องจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื้อหาบางส่วนของจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วที่กล่าวถึงโจโฉที่ใช้อำนาจในการข่มพระเจ้าเหี้ยนเต้ตลอดมานั้น รวมทั้งการที่โจผีบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชสมบัติให้แก่ตน ตามหลักการของลัทธิขงจื๊อถือว่าเป็นบาปเท่ากับกลายเป็นโจรปล้นราชสมบัติ ซันกั๋วจื้อผิงฮว่าจึงกลายเป็นสามก๊กฉบับชาวบ้านที่เล่าสืบทอดกันมาและมีความแตกต่างจากจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว[7]
ซันกั๋วจื้อผิงฮว่า เป็นการนำเอาหลักการความเชื่อในด้านศาสนาและลัทธิเต๋าของจีนมาผสมผสานไว้ในเนื้อเรื่อง ผูกโยงร่วมกับนิทานพื้นบ้านของจีนเรื่องไซ่ฮั่น โดยสมมุติเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในซันกั๋วจื้อผิงฮว่าใหม่ทั้งหมด ซึ่งตัวละครในแต่ละตัวจะพบผลกรรมที่ตนเองได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ในยุคไซ่ฮั่นเช่น มีการแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มเติมว่าฮั่นสินได้กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นโจโฉ เล่าปังหรือพระเจ้าฮั่นโกโจ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นพระองค์แรก กลับชาติมาเกิดใหม่เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ เนื่องจากในชาติที่แล้ว เล่าปังได้เนรคุณฮั่นสินที่มีบุญคุณต่อตนเองภายหลังจากได้ช่วยให้ครอบครองแผ่นดินได้สำเร็จ เมื่อกลับมาเกิดใหม่เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้จึงถูกฮั่นสินที่กลับมาเกิดเป็นโจโฉกดขี่ข่มเหงและกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา หรือแม้แต่สุมาต๋ง ก็ได้หวนกลับมาเกิดใหม่เป็นสุมาอี้ ผู้วางรากฐานจีนแผ่นดินใหญ่และการรวบรวมก๊กต่าง ๆ ทั้งสามก๊กให้เป็นแผ่นดินเดียวกันได้สำเร็จ
ซันกั๋วจื้อผิงฮว่า ถูกนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงในรูปแบบของนิทานพื้นบ้านและการแสดงงิ้วของคนจีน จึงพบว่ามีเนื้อหาบางและข้อมูลบางส่วนมีความผิดพลาดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของจีนเช่น การให้เตียวหุยกลายเป็นสุดยอดขุนศึกที่มีความเก่งกาจ สามารถเอาชนะลิโป้ได้อย่างง่ายดายจนต้องหลบหนีเอาตัวรอด หรือแม้แต่เอาชนะจูล่งได้ที่กู่เฉิง บีบคออ้วนซงบุตรชายของอ้วนสุดจนตายคามือ เป็นต้น
[แก้]
เผย์ซงจื่อ
สามก๊ก ฉบับเผย์ซงจื่อ (จีน: 裴松之) เป็นการนำเอาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเรียบเรียงใหม่ และอธิบายเพิ่มเติมในบางส่วนโดยเผย์ซงจื่อ นักปราชญ์ที่เกิดและเติบโตในเมืองวิ่นเฉิงหรือมณฑลซานซีในปัจจุบัน เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เผย์ซงจื่อได้รับราชการเป็นอาลักษณ์ให้แก่ราชวงศ์ซ่งทางตอนใต้ของจีน และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ชำระจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วในสมัยราชวงศ์จิ้น โดยที่เผย์ซงจื่อชำระจดหมายเหตุสามก๊กเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 972 และมีการกล่าวเพิ่มเติมรวมทั้งให้คำอธิบายในบางส่วนเกี่ยวกับภูมิประเทศและรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างถึงในต้นฉบับเดิม
นอกจากนี้ เผย์ซงจื่อยังแก้ไขในเรื่องของระยะเวลาที่มีความขัดแย้งในตัวเองของจดหมายเหตุสามก๊กและเพิ่มเติมความคิดเห็นบางส่วนของตนลงไป โดยที่ไม่ตัดทอนรายละเอียดและเรื่องราวต่าง ๆ ของจดหมายเหตุสามก๊กออกแต่อย่างใด จึงนับได้ว่าการชำระจดหมายเหตุสามก๊กของเผย์ซงจื่อทำให้ซันกั๋วจื้อเป็นที่กล่าวขานครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง[8]
ซันกั๋วจื้อทงสูเหยี่ยนอี้
ซันกั๋วจื้อทงสูเหยี่ยนอี้ (จีน: 三国之通俗演義) เป็นสามก๊กฉบับนิยายที่ประพันธ์โดยหลัว กวั้นจง นักปราชญ์ในสมัยราชวงศ์หมิง ผู้เป็นศิษย์เอกของซือไน่อัน หลัว กวั้นจงเป็นผู้นำเอาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมาเรียบเรียงใหม่ โดยแต่งเสริมเพิ่มเติมในบางส่วนจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตนเอง รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจีนให้กลายเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นการต่อสู้กันเองระหว่างฝ่ายคุณธรรมและฝ่ายอธรรมตามแบบฉบับของงิ้ว ที่จะต้องมีการกำหนดตัวเอกและตัวร้ายอย่างชัดเจนในเนื้อเรื่อง
สามก๊กของหลัว กวั้นจงได้มีการกำหนดให้เล่าปี่เป็นฝ่ายคุณธรรม มีจิตใจโอบอ้อมเมตตาอารีและมีคุณธรรมสูงส่งที่พยายามปราบปรามโจโฉที่เป็นฝ่ายอธรรม ช่วงชิงราชสมบัติและล้มล้างราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติศาสตร์จีน นักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นถึงสามก๊กของหลัว กวั้นจงที่มีใจเอนเอียงไปทางเล่าปี่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีเหตุผลยืนยันความถูกต้องตามประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่[9]
[แก้]ซันกั๋วเหยี่ยนอี้
ซันกั๋วเหยี่ยนอี้ (จีน: 三国演義) เป็นสามก๊กที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่โดยเหมาหลุนและเหมาจ้งกัง สองพ่อลูกในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งได้ทำการปรับปรุงสามก๊กในแบบฉบับของหลัว กวั้นจงใหม่อีกครั้ง และมอบหมายให้กิมเสียถ่าง (จิ้นเซิ่งทั่น) เป็นผู้เขียนคำนำเรื่อง โดยที่สามก๊กฉบับที่เหมาหลุนและเหมาจ้งกังช่วยกันปรับปรุงแก้ไข โดยยึดแนวทางการเขียนของหลอกว้างจงเป็นต้นแบบคือแบ่งเป็นสองฝ่ายและแย่งชิงอำนาจวาสนากันในสมัยราชวงศ์ฮั่น ให้ฝ่ายเล่าปี่เป็นฝ่ายที่เป็นเชื้อพระวงศ์ฮั่นที่ถูกต้องของแผ่นดินจีน โจโฉเป็นฝ่ายกบฎที่ทะเยอทะยานในอำนาจของตนเอง [10]
เหมาจ้งกังได้ปรับแก้ไขสำนวนการใช้ภาษาของหลัว กวั้นจงในบางจุด ซึ่งเป็นภาษาพูดและเป็นการใช้สำนวนภาษาแบบยุคราชวงศ์หยวนหรือหงวน ให้กลายเป็นการใช้สำนวนภาษาในแบบภาษาเขียนของราชวงศ์ชิงหรือแมนจู นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับเปลี่ยนลักษณะและบุคลิกของตัวละครในสามก๊กใหม่ทั้งหมดตามแนวความคิดของตนเอง รวมทั้งยังปรับเปลี่ยนชื่อและตำแหน่งขุนนาง สถานที่ของสามก๊กต้นฉบับของหลัว กวั้นจงผิดไปตามชื่อจริงในยุคนั้น ๆ ซึ่งสามก๊กของหลัว กวั้นจงนั้นได้เขียนชื่อตัวละคร ตำแหน่งและสถานที่ค่อนข้างชัดเจนและถูกต้องตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่การปรับปรุงแก้ไขของเหมาหลุนและเหมาจ้งกังช่วยทำให้การดำเนินเรื่องไม่เยิ่นเย้อ เดินเรื่องกระชัย และเป็นการขัดเกลาภาษาทำให้อ่านสนุกน่าติดตาม
อาณาจักรสามก๊ก
ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนามครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751
[แก้]วุยก๊ก
วุยหรือเฉาเว่ย (จีน: 曹魏) จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปีพ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยโจโฉ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นราชวงศ์วุยโดยพระเจ้าโจผีและได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่[11]
จ๊กก๊ก
จ๊กหรือสู่ฮั่น (จีน: 蜀汉) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่[12]
- พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
- พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806
จ๊กก๊กมีอายุได้แค่เพียง 42 ปีก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาไร้ความสามารถวันๆเอาแต่เสพสุขของพระเจ้าเล่าเสี้ยน
[แก้]ง่อก๊ก
ง่อหรืออาณาจักรหวูตะวันออก (จีน: 東吳) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวน ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ ได้แก่[13]
- พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
- พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
- พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
- พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823
ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น